วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การบริหาร “คน” ด้วย “ใจ”








การเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายและการที่จะบริหารองค์กรให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะผู้บริหารต้องรอบรู้ทั้งการบริหาร “ธุรกิจ” และการบริหาร “คน”

การบริหารคนนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในองค์กรนั้น “ทีมงาน” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพราะในโลกยุคนี้ไม่มีใครที่จะทำงานแบบวีรเอกชน แล้วประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ ทีมงานที่ดีคือปัจจัยสำคัญของความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นักธุรกิจญี่ปุ่นนั้นมักจะใช้ แนวคิด “ริ-โทะ-โจ” หรือ “เหตุผลและความเห็นใจ”   ในการบริหารคน เพื่อการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ

การบริหารคนจะใช้เพียงเหตุผลเพียงอย่างเดียวเช่นการควบคุมเครื่องจักรกลไม่ได้ จะต้องใช้ “ใจ”ประกอบด้วย  เพราะคนมีความรู้สึกที่อ่อนไหวซึ่งไม่อาจจับต้องได้ ผู้บริหารที่มีความสามารถจะต้องซื้อใจลูกน้อง การซื้อใจดังกล่าวไม่อาจใช้เงินตราได้ ต้องใช้ใจของหัวหน้าเป็นเครื่องมือเท่านั้นจึงจะได้ใจของลูกน้องมาครอง


หลายท่านคงรู้จัก “โคโนสุเกะ มัทสึชิตะ” ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ “พานาโซนิค-เนชั่นแนล” เขาเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งไม่เฉพาะแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในระดับโลกด้วย เขาเริ่มต้นทำงานจากศูนย์คือไม่มีทั้งเงินทุนและไม่มีการศึกษาระดับสูง เพราะคุณพ่อเขาหมดตัวจากการเก็งกำไรราคาข้าว มัทสึชิตะจึงต้องยุติการเรียนเมื่อมีอายุเพียง 9 ขวบ โคโนสุเกะ มัทสึชิตะ ได้รับการยกย่องอย่างสูงในด้านการบริหารคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ธุรกิจเล็กๆ ที่เขาเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2461 เติบโตกลายเป็นธุรกิจอิเลคโทรนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก


มัทสึชิตะเชื่อมั่นว่าศักยภาพบุคคลากรคือความสำเร็จขององค์กร เขาจึงพูดเสมอว่า “เราผลิตคนและเราก็ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย” เขาถือว่าพนักงาน ในบริษัทที่เขาเป็นเจ้าของคือเพื่อนร่วมงาน และก็ประพฤติปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นประหนึ่ง “ลูกค้าประจำ” ขององค์กร เขาบอกว่าคนเปรียบเสมือน “เพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน” ฉะนั้นการที่ผู้บริหารจะได้พนักงานที่มีศักยภาพสูงเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับฝีมือในการเจียระไนของตนเอง  เขาจะเน้นให้พิจารณาคนจากข้อดีเป็นหลัก เพราะถ้าคำนึงถึงแต่ข้อด้อยแล้ว ผู้บริหารก็มักจะพบว่า พนักงานแต่ละคนมีข้อบกพร่องไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งเสมอ ลูกน้องก็จะไม่มีความสุขในการทำงานกับหัวหน้างานที่มีแนวคิดดังกล่าว มัทสึชิตะจะ พยายามหาจุดแข็งของลูกน้องให้ได้ 70% และยอมรับจุดอ่อน 30% และใช้ประโยชน์จาก 70% นั้นให้ได้มากที่สุด

                                                                             

เขามักกล่าวอย่างถ่อมตนว่า เขาไม่ใช่คนเก่งและในกลุ่มธุรกิจ “พานาโซนิค-เนชั่นแนล” ของเขานั้นมีคนที่เก่งกว่าเขาอยู่มากมาย แต่เขาประสบความสำเร็จได้ เพราะเขารู้จักใช้ประโยชน์จากศักยภาพของคนเก่งเหล่านั้น


ท่านผู้อ่านที่เป็นนักธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาเรื่องคนในองค์กรของท่านอยู่ ลองทบทวนดูว่าท่านใด้ใช้ใจในการบริหารคนของท่านหรือไม่ วีธีการบริหารธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับคนเป็นหลักของโคโนสุเกะ มัทสึชิตะ คงจะให้ “ข้อคิด” ที่เป็นประโยชน์ต่อท่านบ้างไม่มากก็น้อย


ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยคุณปนัดดา เจณณวาสิน บอร์ดบริหารหญิงคนแรกของ อีซูซุ เวิลด์ไวด์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น